กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เผย 4 วันในช่วง สงกรานต์ เกิด อุบัติเหตุ แล้วกว่า 1,100 ครั้ง เสียชีวิตแล้ว 157 ศพ ส่วนใหญ่ขับรถเร็วเกินกำหนด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2565 ได้ออกมาเปิดเผยสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนในวันที่ 4 พบว่า เกิดอุบัติเหตุ 324 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 332 คน ผู้เสียชีวิต 41 ราย โดยสถิติรวมพบว่า เกิดอุบัติเหตุรวม 1,195 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 1,185 คน ผู้เสียชีวิต 157 ราย
ส่วน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 35.19 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 32.41
ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 84.23 รถปิกอัพ 5.06 สวนใหญ่เกิดบนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.04 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 33.33 บริเวณจุดเกิดเหตุเป็นทางตรง ร้อยละ 82.72 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 19.01-20.00 น. ร้อยละ 8.33 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 21.72
โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (14 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (16 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ลำปาง และสระแก้ว (จังหวัดละ 3 ราย)
เจ้าหน้าที่ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,907 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 56,377 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 406,487 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 75,615 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 20,542 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 19,876 ราย
“สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสม 4 วัน (วันที่ 11-14 เม.ย.) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,195 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 1,185 คน ผู้เสียชีวิต 157 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (44 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (43 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ลำปาง (7 ราย) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตรวม 16 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี กำแพงเพชร ตรัง นครพนม บึงกาฬ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี ปัตตานี ยะลา ระนอง ลำพูน สมุทรสงคราม สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ” นายนิรัตน์กล่าว
อนึ่ง บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศจีนตอนใต้แล้ว คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ในวันพรุ่งนี้ (16 เม.ย. 65) ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ในช่วงวันที่ 16-18 เมษายน 2565 โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มได้รับผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนบน จะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป
ส่วนฝุ่นละออง/หมอกควันบริเวณภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีแนวโน้มการสะสมน้อยลง เนื่องจากลมใต้ที่พัดปกคลุมมีกำลังกำลังปานกลาง มีฝนน้อยและมีจุดความร้อนเพิ่มขึ้นทางภาคเหนือตอนบน ส่วนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอบน ยังมีสะสมปานกลางถึงค่อนข้างมาก ลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อน
ช็อก! ‘หมอธีระ’ เผย อันดับยอดผู้ป่วยโควิด เมื่อวาน ไทยอยู่อันดับ 7
หมอธีระ เปิดเผยว่า อันดับยอดผู้ป่วยโควิด ประจำวันที่ 14 เม.ย. ไทยอยู่อันดับที่ 7 ย้ำต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิต รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก รายงานความคืบหน้าของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมเปิดเผยว่าหากนับ ยอดผู้ป่วยโควิดใหม่ในไทย เป็นอันดับ 7 ของโลก
โดยข้อความเฟซบุ๊กระบุว่า “เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก ทั้งนี้จำนวนคนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 15.41% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย
…การใช้ชีวิตและทำมาหากินที่ไม่ปลอดภัย จะเป็นภัยคุกคามต่อสวัสดิภาพทุกคนในสังคม การใช้ชีวิต และทำมาหากิน โดยมีพฤติกรรมส่วนบุคคลที่ไม่ป้องกันตัว ทำกิจกรรมเสี่ยง ไปในสถานที่เสี่ยง ทั้งๆ ที่สังคมยังเผชิญกับการระบาดรุนแรงดังที่เป็นในปัจจุบัน ไม่ได้ส่งผลต่อตนเองเท่านั้น แต่จะเป็นภัยคุกคามต่อสวัสดิภาพของทุกคนในสังคม ทั้งสมาชิกในบ้าน คนบ้านใกล้เรือนเคียง คนในที่ทำงาน รวมถึงคนอื่นในสังคมที่ต้องพบปะกับคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงนั้น
เหตุการณ์ในจังหวัดต่างๆ ทั้งเชียงใหม่ ภูเก็ต และกรุงเทพมหานคร อาทิ ถนนข้าวสาร รวมถึงสถานบันเทิงย่านรามอินทรา ที่เป็นข่าวใหญ่ในสื่อมวลชนช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น ชี้ให้เห็นความเสี่ยงต่อการระบาดปะทุหนักขึ้นได้ เพราะมีเรื่องไม่ใส่หน้ากาก แออัด คลุกคลีใกล้ชิด อยู่กันในที่ระบายอากาศไม่ดี ระยะเวลาที่อยู่กันนาน แชร์ของร่วมกัน รวมถึงการเล่นน้ำสาดน้ำหรือใช้ปืนฉีดน้ำเล่นกัน
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องตระหนักถึง”บทบาทหน้าที่”ของตนเองในการปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน และยามที่เกิดการระบาดปะทุรุนแรงขึ้น จนนำมาสู่ความสูญเสียชีวิต และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังสังคมและเศรษฐกิจ คงจะไม่เป็นธรรมหากจะบอกให้ทุกคนทุกภาคส่วนในสังคมต้องมารับผิดชอบร่วมกัน เพราะความสูญเสียนั้นเกิดจากน้ำมือกลุ่มคนและกลุ่มธุรกิจส่วนน้อยที่ฝ่าฝืน ไม่รับผิดชอบ และหน่วยงานรัฐที่มีกฎหมายในมือแต่ไม่สามารถจัดการปราบปรามหรือป้องกันได้